อัลไซเมอร์

ในปัจจุบันนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่าอัลไซเมอร์เป็นโรคที่พบได้บ่อย สาเหตุเกิดจากเซลล์ในสมองเสื่อมสภาพ สมองส่วนที่ยังใช้การได้จึงต้องทำงานหนัก เมื่อไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจก่อให้เกิดอาการของโรคที่รุนแรงขึ้น จนนำไปสู่ผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน โดยอาการหลงลืมแม้พบได้บ่อยในผู้ที่มีกิจวัตรประจำวันอันมากมาย แต่การหลงลืมแบบใดที่ส่อเค้าว่าผู้นั้นป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์  ควรทำการสังเกตเสียแต่เนิ่น ๆ เพื่อการรักษาอย่างทันท่วงที 

1.ลืมสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นอย่างง่ายดาย 

สำหรับผู้ที่ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ มักจะลืมสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย โดยอาจลืมว่ามีนัดเพื่อนสนิทไว้ หรือบางครั้งเพิ่งมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นทว่ากลับลืมเสียสนิท นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีการถามอะไรบ่อยครั้งในคำถามเดิมๆ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าผู้ป่วยลืมคำตอบหรือสิ่งที่ตนเองเพิ่งถามไป วิธีแก้ไขปัญหานี้อาจใช้สมุดจด หรือให้สมาชิกในครอบครัวช่วยจดจำเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น 

2.ไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นลำดับขั้นตอนได้ 

หากเป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยการทำงานเป็นขั้นเป็นตอน เช่นการขับรถ การทำกับข้าว การโอนเงินหรือถอนเงินที่ธนาคาร ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะไม่สามารถทำได้ เนื่องจากลืมขั้นตอนในการทำกิจกรรมเหล่านี้ไปหมดนั่นเอง โดยสิ่งที่จะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยให้กลับมาทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นขั้นเป็นตอนได้คือการเขียนบันทึกไว้ในสมาร์ทโฟนหรือสมุดโน้ต เป็นต้น 

3.มักหลงทาง 

ผู้ป่วยหลายคนลืมเส้นทางที่เคยเดินทางเป็นประจำจนคุ้นชิน ยกตัวอย่างเช่นเส้นทางที่ไปทำงาน หรือเส้นทางสำหรับวิ่งออกกำลังกาย บางครั้งหาทางเข้าออกของบ้านไม่ได้ หรือต้องขับรถวนเพื่อหาจุดหมายบ่อยครั้ง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ป่วยได้สูญเสียทักษะการจดจำเส้นทางไปแล้วนั่นเอง  

4.ไม่สามารถเล่นกีฬาที่เคยเล่นได้ 

การเล่นกีฬาที่มีกติกากำหนดไว้อย่างชัดเจนจะกลายเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ บางครั้งเปลี่ยนชุดเตรียมเล่นกีฬาแล้ว แต่ทว่าเมื่อเดินเข้าสนามไป ผู้ป่วยกลับหลงลืมว่าต้องทำอะไรเป็นอันดับแรก  

5.ทำความเข้าใจเนื้อหาในหนังสือไม่ได้ 

ผู้ป่วยจะทำความเข้าใจได้อย่างยากลำบากกับเนื้อหาในหนังสือ เนื่องจากไม่สามารถหาจุดเชื่อมโยงของเนื้อหาแต่ละตอนได้ หรือบางครั้งหากอาการรุนแรงขึ้น อาจไม่สามารถเชื่อมโยงภาพที่ตนเองเห็นกับการกระทำของตนเอง ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นกะระยะวางของบนโต๊ะ การหั่นผัก เป็นต้น 

จะเห็นได้ว่าแต่ละพฤติกรรมที่เป็นสัญญาณเตือนของโรคอัลไซเมอร์นั้น ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดผลกระทบกับชีวิตของผู้ป่วยอย่างรุนแรง และทำให้ผู้ป่วยมีความเครียดสูงอีกด้วย จึงเป็นหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัวหรือผู้ดูแลที่จะสื่อสารและทำความเข้าใจกับผู้ป่วยให้ยอมรับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของตนเอง และพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้อง